“เจียะป้าอาโบ่ย” (กินอิ่มหรือยัง) เป็นคำทักทายของคนจีนภูเก็ต แทนคำว่า 你好 “หนีห่าว” (สวัสดี) ของคนจีนปัจจุบันมาแต่โบราณ อาจเป็นเพราะความยากลำบากหรืออดอยากตอนอยู่เมืองจีนดังนั้นวันตรุษจีนจึงเป็นวันรวมญาติที่สำคัญที่สุดบนโต๊ะอาหารจึงเต็มไปด้วยหมูเห็ดเป็ดไก่และทุกคนต้องมากินข้าวด้วยกัน ถึงแม้ทำงานอยู่ไกลแสนไกลแต่วันนี้ต้องกลับเพื่อพบญาติบอกเล่าส่งข่าวต่อกัน
เทศกาลตรุษจีนมีชื่อทางการปัจจุบันเป็นภาษาจีนว่า “春節” “ชุนเจี๋ย” เทศกาลวสันต์ (Spring Festival) เป็นเทศกาลที่ยาวนานและยิ่งใหญ่คึกคักที่สุดเทศกาลนี้จะเริ่มตั้งแต่ 8 ค่ำเดือน 12 ยาวจนถึง 15 ค่ำเดือนอ้ายของปีถัดไปตามปฏิทินเกษตรจีน แต่ความคึกคักมากสุดจะอยู่ที่วันที่ 30 เดือน 12 (วันสิ้นปี) วัน 1 ค่ำเดือนอ้าย (ต้นปี) และวัน 15 ค่ำเดือนอ้าย เรียกว่า “ซ่างหยวน” (เพ็ญแรกต้นปี) จึงเป็นเทศกาล “หยวนเซียว” (ราตรีเพ็ญแรก)
วันตรุษจีน– วันหยวนเซียว(ราตรีเพ็ญแรก)
พิธีเปิดงาน “ป่างเตงโห่ย” เทศกาลโคมไฟภูเก็ต เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ชมรมอ๊ามภูเก็ตร่วมกับศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิวจัดงาน “วันตรุษจีน-วันหยวนเซียว”
คนจีนที่อพยพมาภูเก็ตเป็น“ชาวฮั่น” ที่มีอารยธรรมมาหลายพันปีมักจะเรียกตัวเองว่า “เหลงเอ่เอ่าต่าย” 龍的傳人 (หลุงเตอะฉวนเหริน) คือ“สายเลือดมังกร” มิใช่พวกชนเผ่าจึงยังมีความเข้มข้นในประเพณีวัฒนธรรมโบราณ ส่วนคนจีนปัจจุบันมักเรียกตัวเองว่า 我的中国人 (หว่อเตอะจงกั๊วเหริน) ฉันเป็นคนจีน จึงเป็นคำที่ฟังแล้วเหมือนกับใครก็ได้ เผ่าไหนก็ได้ อยู่ที่ประเทศจีนส่วน “เหลงเอ่เอ่าต่าย” หรือ “สายเลือดมังกร” 龍的傳人 (หลุงเตอะฉวนเหริน)จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่ามากเพราะเป็น “สายเลือดชาวฮั่น”
龍 “เหลง” มังกร
ตำนาน ที่มาของเทศกาลตรุษจีนเริ่มมีมาตั้งแต่ราชวงศ์ซางและราชวงศ์โจว เกิดจากประเพณีฉลองการเก็บเกี่ยวกับการเซ่นไหว้บรรพชนและผีสางเทวดาแถมมีเรื่องเล่าขานกันมาดังนี้
ตำนานเรื่องแรกในอดีตกาลมีหมู่บ้านชื่อว่า“เถาฮวาชุน”หมู่บ้านดอกท้อ มีสัตว์ประหลาดเรียกว่า“เหนียน”ปรากฏขึ้น ปกติสัตว์ตัวนี้จะจะอยู่ในทะเล พอวันสิ้นปีจะออกมาจับคนและสัตว์กินเป็นอาหาร ผู้คนต่างหวาดกลัวอยู่ไม่เป็นสุขจนกระทั่งมีขอทานชราผู้หนึ่งมาขอพักในหมู่บ้านและขออาสารับมือ พอกลางดึกเจ้า“เหนียน”ก็ออกมาที่ประตูบ้านที่เขาติดกระดาษแดงไว้ ในบ้านมีแสงสว่างทันที ทันใดนั้นก็มีเสียง“ไผ่ระเบิด” เจ้าเหนียนตกใจหนีไปทันทีวันรุ่งขึ้นทุกคนปลอดภัยทั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่นั้นมาพอถึงวันสิ้นปี ทุกบ้านจะเขียนกลอนคู่ด้วยกระดาษแดงติดไว้ที่ประตูบ้าน พอตกดึกก็เอาปล้องไม้ไผ่โยนใส่กองไฟให้ระเบิดเป็นเสียงดัง(ต่อมากลายเป็นปะทัด) ลักษณะนี้จะเรียกว่า“กั้วเหนียน”(คนภูเก็ตเรียกว่า“โก้ยหนี”)แปลว่าข้ามปี คือข้ามจากปีเก่าสู่ปีใหม่
ตำนานเรื่องที่สองสมัยโบราณยังไม่มีเครื่องบอกเวลาและปฏิทิน ชายคนหนึ่งชื่อว่า“ว่านเหนียน”(หมื่นปี)หรือ“บ่านหนี” เวลาที่เขาตัดฟืน เขาก็พบว่า เงาต้นไม้สั้นยาวไม่เท่ากัน เห็นน้ำหยดจากหน้าผาก็ทำให้คิดทำเวลาน้ำหยด จากการสังเกตและทดลองเป็นเวลายาวนานเขาพบหลักการสลับเปลี่ยนช่วงสั้นยาวของกลางวันและกลางคืน ว่านเหนียนกราบทูลพระราชาจู่อี่ พระราชาจึงตั้งชื่อปฏิทินนี้ว่า “ว่านเหนียนลี่”(ปฎิทินว่านเหนียน) เป็นคำเรียกปฏิทินพื้นบ้านของจีนจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านต่างซาบซึ้งในบุญคุณจึงจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อเป็นการรำลึกถึงเขาในตอนต้นฤดูใบไม้ผลิก่อนลงมือทำนา จนเป็นที่มาของเทศกาลตรุษจีน
“วันตรุษจีน” หรือ “ชุนเจี๋ย” “春節” จะตรงกับเดือนสามตามปฏิทินไทยของคนภูเก็ต จึงเรียกว่า “วันเดือนสาม” สมาชิกในครอบครัวทุกคนจะต้องกลับบ้านสู่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อพบปะผู้ใหญ่ญาติๆทุกคนได้ถามทุกข์สุขบ้างเรื่องการทำมาหากินบ้าง จะเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในรอบปีของการเริ่มต้นทำงานหลัง“วันเดือนสาม”เพราะหมายถึงการเริ่มชีวิตใหม่ของปี การเฉลิมฉลองจึงยิ่งใหญ่มีกิจกรรมที่ต้องสืบทอดกันมากมายเพื่อเป็นสิริมงคลของทุกคนในครอบครัว แล้วแยกย้ายกันไปทำมาหากินต่างถิ่นต่างแดนใครมีงาน ทำเงินดีที่ไหนก็จะชักจูงกันไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าหลังวันปีใหม่ ปัจจุบันถึงแม้บรรพชนคนจีนโพ้นทะเลจะล้มหายตายจากไป แต่“ตึ่งหลางเกี้ย”(ลูกคนจีน)และชาว“บาบ๋า”ภูเก็ตที่เป็นลูกไทยเชื้อสายจีนยังคงปฏิบัติสืบทอดเช่นคนจีนโพ้นทะเลอยู่ทุกปีใครที่ไม่หยุดทำงานวันตรุษจีนจะโดนเพื่อนด่าว่า “จะต้องจนไปทั้งปี” บริษัทห้างร้านต่างๆจะหยุดยาวถึง เจี้ยโง้ยจั๊บหง่อ(หยุดจนถึงวันหยวนเซียว) เพราะปกติจะไม่มีวันหยุดเลยแม้แต่วันเสาร์หรืออาทิตย์หรือวันอะไรก็ตาม โรงทำขนมใกล้บ้านจะหยุด วันหยี่เก้า ส่าจั๊บ (วันไหว้) โฉ่ยอิด เปิดโฉ่ยสี่ แต่จะหยุดเพิ่มวันโฉ่ยเก้าและจับหง่ออีก สำหรับผมนั้นจะได้หยุดแค่ 3 วันเพราะ“เจี้ยโง้ยโฉ่ยสี่”(เดือนแรกวันที่สี่)ก็“คุยกาง”(คนปุนเต่จะพูดว่า“เปิดทำกาน”)แล้วสรุปว่าในหนึ่งปีผมจะมีวันหยุดแค่ 3วัน บางปีงานเยอะมากช่วงตรุษจีนก็จะได้หยุดแค่เจี้ยโง้ยโฉ่ยอิดหรือ“วันตรุษจีน”เพียงวันเดียวเพราะงาน “หล่ออาถาว”(Logistics)ต้องขนสินค้าจาก“เรือมาตั้ง” หรือ“เรือใบ” ขึ้นlorry(รถบรรทุก) เพื่อเข้า warehouse(ที่พักเก็บสินค้า)ของศุลกากร หลังจากตรวจและเสียภาษีแล้วส่งต่อให้ลูกค้า จึงอิงวันที่และเวลาของทางราชการไทยเป็นหลัก เนื่องจากเป็นงานบริการจะหยุดพักก็ต่อเมื่อไม่มีงานหรือไม่มีเรือเข้ามาเทียบท่าเท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากของคนบาบ๋าภูเก็ตที่ปฏิบัติเหมือนคนจีนโพ้นทะเลคือ หนี้สินต่อกันที่ค้าขายทำธุรกิจจะต้องชำระให้เสร็จสิ้นก่อนวันตรุษจีน กลายเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือต่อกัน มิฉะนั้นปีใหม่จะทำให้ซวยตลอดปี (อาจโดนโจมตีไม่มีใครกล้าค้าขายด้วย) คนบาบ๋าภูเก็ตถือมากจึงเป็นกลุ่มคนที่มีเครดิตหรือมีความน่าเชื่อถือ
ประเพณีตรุษจีนในโบราณ บางกลุ่มจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เดือน 12 เรียกว่าเทศกาลล่าปา อาหารเทศกาลนี้จะเป็นโจ๊กล่าปา(ลักษณะเป็นข้าวเหนียวเปียกรวมมิตร) ใช้วัตถุ 8 อย่างมาต้มรวมกันแต่ละถิ่นใช้ของต่างกัน ส่วนมากใช้ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง ลูกเดือย กระจับ เกาลัด ถั่วแดง พุทราเชื่อม ส่วนบางแห่งจะมีผสมเนื้อติดมัน ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เต้าหู้แห้งและอื่นๆ ส่วนผสมแตกต่างกันเพื่อรสชาติ จึงมีหลายสูตร (ไม่เคยเห็น ที่ภูเก็ตช่วงหลังๆไม่มีเลย)
ปัจจุบันงานประเพณีจะเริ่มตั้งแต่วันหยี่สี่ (24 เดือน 12จีน) ปีนี้จะตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ทำพิธีไหว้ “จ้าวกุ่นก๊ง”
“เตาไฟ” คนภูเก็ตเรียก“จ่าว” หรือ “โพ” หรือ “เพา” | จ้าวกุ่นกง (เทพแห่งเตาไฟ) |
“จ่าวกุ่นกง” หรือ“เทพแห่งเตาไฟ” เป็นหนึ่งในห้าของเทพประจำบ้าน(เทพเตาไฟ,เทพบ่อน้ำ(อยู่ในบ้าน),เทพประตูบ้าน,เทพประตูห้อง,และเทพห้องโถงกลาง) ซึ่งเทพทั้งห้ามีหน้าที่คุ้มครองคนในบ้าน เชื่อกันว่า “เทพแห่งเตาไฟ”คือผู้ที่ “องค์หยกหองส่งเต่”ประมุขแห่งสวรรค์ส่งลงมาอยู่ประจำบ้านเรือนมนุษย์ มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันและจดบันทึกการกระทำของครอบครัว
กลอนคู่ตรุษจีน ภูเก็ตเรียกว่า“ตุ้ยเหลียน หรือ เหลี่ยนตุ่ย”ภาษาจีนกลางเรียกว่า“ชุนเหลียน” จะแต่งเองเขียนเองหรือเชิญผู้อื่นแต่งเขียนให้ก็ได้ มักนิยมเปลี่ยนกลอนคู่ใหม่ในเทศกาลตรุษจีน สมัยโบราณมีที่มาจาก“ยันต์ไม้ท้” ในยุคห้าราชวงศ์เมิ่งฉ่าง(ค.ศ.907-960) ราชาแห่งแคว้นโฮ่วสู่ แต่งข้อความเป็นกลอนคู่เขียนลงบนแผ่นไม้ท้อว่า “ปีใหม่รับมงคลมากล้นหลาม เทศกาลดีมีนามตรุษวสันต์” เชื่อกันว่าไม้ท้อสามารถไล่ผีได้ กลอนคู่ที่เขียนก็มีความหมายเป็นสิริมงคล ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา นิยมเปลี่ยนเป็นเขียนบนแผ่นกระดาษแดงแทน เรียกว่า “ชุนเหลียน” แปลว่ากลอนคู่ตรุษจีน ประกอบด้วยข้อความสามวรรค วรรคขวางอยู่เหนือขอบประตู วรรคซ้ายและวรรคขวาติดอยู่ที่ด้านข้างประตูทั้งสอง ต้องกลั่นกรองถ้อยคำให้ประณีตสละสลวยทั้งเสียงและความหมาย วรรคซ้ายกับวรรคขวาต้องเป็นคู่สมดุลกัน และมีความหมายสอดคล้องกับวรรคขวาง ใจความส่วนใหญ่เป็นเรื่องขอให้เกิดสิ่งที่ดีงามเป็นสิริมงคล เช่น
บ้านเมืองงดงามนิจนิรันดร์ เดือนตะวันแจ่มใหม่ในบัดดล
พลังมงคลรับวสันต์ทั่วแผ่นดิน เมฆงามรินหลั่งโชคลาภทั่งแหล่งหล้า
ภูเขางามผุดผ่องน้ำใสทิวทัศน์งาม คนอายุยืนข้าวอุดมเรื่องดีมีมากหลาย
บัญชรผกา “ชวงฮวา” กระดาษตัดเป็นรูปดอกไม้แขวนประดับหน้าต่าง เป็นศิลปะพื้นบ้านของจีนโบราณส่วนมากจะทำกันเอง มักมีสีสันแตกต่างกัน สีแดงจะนิยมสูงสุด ส่วนมากตัดเป็นรูปสิริมงคล การเฉลิมฉลอง เช่น ธัญพืชทั้ง 5 อุดมสมบูรณ์ เป็นศิลปะในการตัด พับ แกะ ไว้ด้วยกัน แต่ปัจจุบันมีขายตามห้างทั่วไป
เงื่อนมงคล “เสิงเจี๋ย” (เชือกเงื่อน) คือการเอาเชือกเส้นเดียวมาผูกเป็นรูปศิลปะต่างๆ โดยใช้การสอด ร้อย สาน และผูกผสมผสานกัน ห้ามตัดต่อเป็นอันขาดเพราะมีความหมายแฝงว่า ทำการใดก็ราบรื่นต่อเนื่อง เช่น เงื่อนสิริเมฆา เงื่อนสมปรารถนา เงื่อนมงคลคู่ เงื่อนร่วมใจ เงื่อนสันติสุข มักแขวนตามช่องประตูหรือห้องโถงบ้าน เงื่อนศิลปะนี้มีที่มาจาการผูกเชือกเป็นปมเพื่อบันทึกเหตุการณ์ในยุคโบราณที่ยังไม่มีตัวอักษร ต่อมาพัฒนาเป็นการผูกเงื่อนศิลปะของจีน ชาวต่างชาตินิยมเรียกศิลปะชนิดนี้ว่า “จงกั๋วเจี๋ย” (ศิลปะการผูกเงื่อนของจีน)
โคมลายวิจิตร “ฮวาเติง” หรือ “เตง” หมายถึงโคมไฟที่มีลวดลายงดงาม มีที่มาจากการบูชาดาวมหาเทพไท่อี่ในรัชกาลพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ถึงยุคราชวงศ์ถังและยุคราชวงศ์ซ่งได้รับความนิยมแพร่หลายมาตลอดถึงปัจจุบัน ชาวบ้านมักทำกันเองด้วยไม้ไผ่ ผ้าแพร พู่ เลื่อม ลูกปัด และกระบวนการต่างๆจนเสร็จ มีสีสันลวดลายวิจิตรงดงามด้านในมีเทียนหรือประทีปอื่นๆ ตัวโคมครอบอยู่มักนิยมประดับประดาด้วยบทกวี ภาพวาดรูปลักษณ์หลากหลายมักนิยมแขวนตอนเทศกาลหยวนเซียว
ทั้ง “ชวงฮวา” และ “เสิงเจี๋ย” จะไม่ค่อยนิยมในภูเก็ตถ้ามีก็น้อยมาก แต่ “ฮวาเติง” พอจะมีเห็นบ้างตามบ้าน “เถ่าเก” หรือผู้มีฐานะ “ฮวาเติง” มักจะประดับกันจนถึงวันจับหง่อ ไหว้วันเส้งต้าน (วันเกิด) ขององค์ “เทียนกวนไต่เต่” ซึ่งจะตรงกับวันแห่โคมไฟเทศกาล “หยวนเซียว” มักตรงกับสิบห้าค่ำของไทย “วันมาฆบูชา” อาม่าที่เป็นคนไทยก็จะไปวัดชวนลูกหลานไปเวียนเทียน กลับจากวัดพวกเราก็จะไปต่อกับ “อาก๊อง” แห่โคมไฟกินขนมอี๋ (ขนมซ่างหยวน) ลักษณะเป็นแป้งมีไส้ต้มในน้ำตาลหวานๆ กินแล้วชื่นใจ
เส้หนี๋ (ปีน้อย เสี่ยวเหนียน) 23 ค่ำ เดือน 12 แต่ภูเก็ตนิยม 24 ค่ำ เดือน 12 จับหยี่โง้ย หยี่สี่ คนภูเก็ตจะทำพิธี “ส้างสีน” คือส่ง “จ้าวกุ่นกอง” เป็นเทพแห่งเตาไฟขึ้นสวรรค์ ทุกบ้านของคนภูเก็ตจะมี “จ่าว” หรือเตาไฟ บางคนจะเรียกว่า ”โพ” หรือ “เพา” ลักษณะจะเป็นเตาไฟใหญ่มีช่องหุงอาหารสองถึงสามช่องใต้เตาไฟส่วนใหญ่ทำทรงโค้งเพื่อเก็บไม้ฟืน หม้อหุงข้าวประจำหนึ่งเตา ต้มน้ำร้อนหนึ่งเตา ทำกับข้าวอีกหนึ่งเตา ส่วนของเซ่นไหว้ก็จะมีสุราอาหารที่ขาดไม่ได้คือขนมเข่ง จะเรียกว่า “ตี่โก้ย” (ขนมหวาน) หรือ “หนี่โก้ย” (ขนมปี) เนื้อหวานเหนียวๆหลังจากไหว้แล้วเก็บใส่ตะกร้าแขวนไว้ที่หลังคาโรงครัวกินได้ทั้งปี เพื่อให้ขนมเข่งที่มีคุณสมบัติเหนียวหนึบ เมื่อ “จ้าวกุ่นกอง” ขึ้นไปรายงานองค์ “หยกหองส่งเต่” จะพูดมากไม่ได้เพราะขนมเข่งเหนียวติดปากอยู่ และเมาสุรารายงานไม่ได้ว่าบ้านนี้ ลูกกับพ่อหรือสามีกับภรรยามีปัญหาอะไรกันหรือไม่ หรือสามีชอบเล่นไพ่ ภรรยามีชู้ อะไรต่างๆทำให้ “จ้าวกุ่นกอง” รายงานไม่ได้ และจะรับ“จ้าวกุ่นกอง”ลงมาจากสวรรค์อีกครั้งในวัน “จิ๊สีน”คือ“เจี้ยโง๊ยโฉ่ยสี่” หรือเดือนแรกสี่ค่ำของช่วงปีใหม่เพื่อเอาใจเทพแห่งเตาไฟจึงเขียนกลอนคู่ติดตรงประตูซ้ายขวาว่า “ขึ้นสวรรค์กล่าวสุนทรวาจา กลับวิมานฟ้าประทานมงคล” ส่วนบนประตูจะเขียนว่า “ดาวมงคลส่องอยู่สูง” ด้วยหวังให้เทพแห่งเตาไฟไปพูดแต่สิ่งดีงามรายงานต่อสรวงสวรรค์
ตั่วหนี (ปีใหญ่ ต้าเหนียน) ตั้งแต่ 24 ค่ำ ถึง 29 ค่ำ เรียกว่า “วันต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ”หรือวันทำความสะอาดบ้านเพราะเชื่อกันว่าฝุ่นละออง หยากไย่สิ่งสกปรกต่างๆคือบันทึกความบกพร่องของคนในบ้าน การทำความสะอาดให้หมดเป็นการทำลายบันทึกความบกพร่องของคนในบ้าน
วันจ่ายเป็นวันที่ทุกครัวเรือนต้องออกไปจับจ่ายซื้อข้าวของเพื่อเตรียมมาไหว้บรรพชน ส่วนใหญ่จะออกไปจับจ่ายกันตอนเย็นถึงกลางคืน ปีนี้จะตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 (จับหยี่โง้ยหยี่เก้า) วันจ่ายก็จะไปหาซื้ออาหารที่ “บ่านส้าน” คือตลาดสดเทศบาลถนนระนอง คนทำเหมืองหรือทำธุรกิจค้าขายมีลูกน้องหลายคน จะมีการฆ่าหมู แล้วแบ่งกันให้ทุกคน เป็นหมูที่เลี้ยงด้วยเศษอาหารที่เหลือจากคนงานกินทุกวัน ผสมกับ“ต้นกล้วย”หลังบ้านให้คนงานตัดเป็นชิ้นเล็กๆหรือผักตบชวาจาก”ขุ้ดหลอง” (บึงขุมเหมืองเก่า)ก็จะเอามาสับๆผสมกับเศษอาหารไปเลี้ยงหมูขุนกันจนอ้วน เป็ดไก่ก็เหมือนกันจะเลี้ยงปล่อยไว้หลังบ้านส่วนเป็ดมักกั้นคอกให้ลงไปใน“ขุ้ดหลอง” เพราะเป็ดจะชอบเล่นน้ำอาบน้ำดำน้ำจับหอยตัวเล็กๆกินมิฉะนั้นจะไม่ค่อยมีไข่ให้ แต่พอถึงฤดูกาลตรุษจีนทั้งเป็ดและไก่ก็จะถูกเชือดลงหม้อแกงบ้างต้มบ้างจนอาหารล้นโต๊ะ
อาหารสารพัดถูกจัดโต๊ะไหว้บรรพชน
วันไหว้ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 วันส้างหนี วันสิ้นปี จะมีการทำกับข้าวอย่างดีหุงหาอาหารไหว้บรรพชนแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่ออาก๊งอาม่าที่จากโลกไปแล้ว หลังจากนั้นก็มีการเฉลิมฉลองสนุกสนานกัน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์สมานฉันท์ในครอบครัว ทั้ง“ตึ่งหลางเกี้ย”และ “บ้าบ่าหลาง”จะมีวิธีการทำบุญให้บรรพชนแบบคนจีนส่วนฝ่ายอาม่าหรือแม่ที่เป็นคนไทยหลังปรุงอาหารเสร็จก็จะแบ่งอาหารไปถวายพระทำบุญที่วัดพุทธ ก็จะไม่มีอะไรกลับมาแต่ประเพณีจีนไหว้บรรพชนที่บ้านเสร็จแล้วทุกคนสามารถนำเอาอาหารที่เซ่นไหว้มากินได้ทั้งหมด
ช่วงเช้า (7.00-8.00) จะไหว้พระหรือเทพสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่อยู่ในบ้านก่อน มี ส่ามเซ้ง (เนื้อสัตว์ 3 อย่าง) เช่น หมู ปลา ไก่ ขนมเข่ง (หนี่โก้ย) พร้อมผลไม้ตามสมควร เสร็จแล้วเผากระดาษทองตามประเพณี
ช่วงสาย (9.00-12.00) จะไหว้บรรพชน ลูกหลานก็จะแสดงความกตัญญูต่ออากง อาม่าอาป๋าอาหมะ ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อโต๊ะใหญ่ด้วยสารพัดอาหารที่ท่านชอบเผากระดาษเงินให้ไปใช้ในปรภพอย่างมากมาย
ช่วงบ่าย (13.00-15.00)จะไหว้ โฮเหี่ยตี่ (วิญญาณเร่ร่อนไม่มีญาติ) หรือพี่น้องที่แสนดี ด้วยอาหารคาวหวาน พอได้เวลาเผากระดาษเงินให้นิดหน่อย แล้วจุดปะทัดแพครั้งเดียว(เป็นการไล่)
หลังจากไหว้บรรพชนอาหารจะมากเป็นพิเศษจนกินกันไม่หมดเหลือเยอะแยะจึงมีวิธีถนอมอาหาร จนเป็นที่มาของ….
“จับฉ่ายฉ้ายโบ้ย”
“ฉ้ายโบ้ย” เป็นอาหารยอดนิยมหลังตรุษจีน หมู กุ้ง ไก่ ปลา เป็ด หรือผัดอะไรที่เหลือกินไม่หมดก็จะลงไปในหม้อ “ฉ้ายโบ้ย” รวมถึงผักต่างๆด้วยเพราะแม่บ้าน แม่ครัวแต่ละคนเหนื่อยล้า จึงได้พักไม่ต้องทำอาหารเพราะมี “ฉ้ายโบ้ย”นี่เอง เวลาอุ่นฉ้ายโบ้ย”จะให้อร่อยต้องอย่าลืมเพิ่ม “หอยเป๋าฮื้อ”ลงไปด้วยอร่อยมากจริงๆ
“จับฉ่าย” เป็นหม้อที่ผสมกันเฉพาะผักอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นผักก้านแข็งผัดรวมกันสารพัดผัก จับฉ่ายก็จะเป็นอาหารยอดนิยมอีกอย่างหนึ่ง
กรณีอาหารเหลือไม่มากนักก็จะรวมกันลงหม้อเดียว เรียกว่า “จับฉ่ายฉ้ายโบ้ย” จึงเป็นอาหารยอดนิยมเป็นพิเศษหลังวันไหว้บรรพชนของคนภูเก็ตจนปัจจุบัน
วันสิ้นปีหลังจากรับประทานอาหารกันอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็รอห้าทุ่มเพื่อต้อนรับวันตรุษจีน (ปีใหม่) บางคนนั่งดื่มน้ำชาดูทีวี หลายคนก็จับกลุ่มกันกินเหล้าเล่นไพ่ ส่วนเด็กๆก็เล่น “ส่ามกอก” ลักษณะเป็นไม้ลูกกลมๆมีภาษาจีน อ๋อง สื่อ เฉี่ยว กือ แบ้ ผ่าว จูดมีสองกลุ่มสี สีดำและสีแดง เฉพาะตรุษจีนเท่านั้นที่พ่อแม่อนุญาตให้เล่นไพ่ได้ จะได้รู้จักคิดหรือสู้กัน อ่านใจกัน โตขึ้นจะได้ทำการค้าเป็น หรือสอนให้รู้ว่าการดำเนินชีวิตบางครั้งก็ต้องเสี่ยงแต่ก็ไม่นิยมให้เล่นไพ่เป็นกิจวัตร ผู้ชายสูงวัยอายุมากมักดื่มบรั่นดี มักเล่นนกกระจอก หนุ่มสาวเล่นดำมี่ หยี่อิด สามใบ เผ๋ ผู้หญิงสูงวัย เช่น อ่าอี๋ อ่าโป๋อ่ากิ่ม อ่าจี้มอ่าอึ้มชอบไพ่จอด พอห้าทุ่มถึงก่อนฟ้าสางเปิดไฟให้หมดทั้งบ้าน จุดปะทัดต้นรับปีใหม่เพื่อให้เสียงดัง ภาษาฮกเกี่ยนเรียกว่า “ตั๋น”เป็นเคล็ดว่าบ้านนี้มีชีวิตชีวา เรียกร้องให้เทวดาสนใจเพื่อจะได้อวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุขมีความเจริญยิ่งๆขึ้น อีกนัยหนึ่งการจุดปะทัดเป็นความเชื่อแต่โบราณว่า เพื่อขับไล่สัตว์ร้าย “เหนียน”ที่ซ่อนตัวอยู่ในที่มืดหรือที่อยู่นอกบ้านไม่ให้เข้ามาใกล้บ้านมาขัดโชคลาภในวันปีใหม่ จึงเปิดไฟทุกดวงให้สว่างไสวทั้งคืน จะไม่มีการกวาดบ้านในวันตรุษจีน ถ้าหากเลอะเปื้อนให้ใช้ผ้าเช็ดการใช้คำพูดทุกคำต้องพูดแต่สิ่งที่ดีๆเป็นสิริมงคลไม่มีการดุด่า ทักทายสวัสดีปีใหม่อวยพรกันและกัน หากเจอเพื่อนบ้านหรือใครก็ตามก็ต้องกล่าวคำอวยพรกันจนเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมา
วันตรุษจีน ปีนี้ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
“ซินเจี้ยยูอี่ ซินหนีฮวดจ๋าย” เจี้ย มาจากคำว่า “เจี้ยโง้ย”คือ เดือนเริ่มต้นหรือเดือนแรกของปี ซินเจียก็คือวันขึ้นปีใหม่ ขอให้สมความปรารถนา (สมหวัง) ขอให้ร่ำรวยทั้งปีในปีใหม่นี้ การอวยพรนี้เป็นจริงแน่นอนสำหรับเด็กๆและคนงานเพราะจะได้ “อ่างปาว” จึงร่ำรวยทั่วทุกคน
ภูเก็ตแทบทุกบ้านจะมี “ปุนเถ่ากง”
ปกติเช้าวันตรุษจีน ผู้ใหญ่จะอาบน้ำแต่งตัวไหว้พระแต่เช้าตรู่ ส่วนใหญ่หน้าพระมักจะเป็น“ปุนเถ่ากอง”มีเต่เหลี่ยวและเปลี่ยนน้ำชาทุกวันวางไว้ตลอดเก้าวัน และนั่งคอยลูกหลานมาเยี่ยม หลานๆก็จะหิ้วส้ม คนฮกเกี่ยนเรียกว่า “ก๊าม”มีความหมายว่า “กำเสี่ย”(ขอบคุณ) อาก๊งอาม่าที่เคยอุ้มชูเลี้ยงดูกันมา ผู้ใหญ่ก็อวยพรให้เด็กๆ“กู๊ดล๊าด”ขยันเรียนหนังสือเพื่อมาช่วย“อาป๋าอาหมะ” (พ่อแม่) “โจ้เส่งลี่” (ทำการค้า) ผมไม่เคยได้ยินว่าให้ขยันเรียนหนังสือโตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน คนบาบ๋าภูเก็ตไม่เคยอวยพรลูกอย่างนั้นลูกๆเลยต้องมาทำการค้าทุกคน เพราะสมัยผมไม่ชอบรับราชการแต่เพื่อนผมหลายคนก็รับราชการเป็นครูปัจจุบันเกษียนไปหมดแล้ว หลังจากอวยพรลูกหลานก็จะชวนกันไปไหว้พระที่ “อ๊าม”(วัดจีน) เช่น ถ้าอยู่ในเมืองจะไปไหว้ที่ “ปุดจ้ออ๊าม” ถ้าแถวบางเหนียวจะเป็น“จ้อสู่กองอ๊าม” บางครอบครัวไหว้ที่ “ฉ้ายตึ๋ง”หรือ“อ๊ามตึ๋ง”หรือ“ฉื่อตึ๋ง” (สำนักบรรพชนตระกูลแซ่) ก็แล้วแต่สะดวกว่ากันไป ตอนเย็นจะชวนกันไปชายทะเลขนข้าวปลาอาหารไป“กินฮ่อ” หรือ “ปิคนิก”กัน เช่น หาดสุรินทร์ หาดราไวย์ ส่วนหาดป่าตองกะตะกะรน ค่อนข้างไปลำบากเพราะต้องขึ้นเขาถนนเป็นลูกรังไม่ค่อยสะดวกในการเดินทางการแต่งกายทุกคนมักค่อนไปทางสีแดง เพราะเป็นสีมงคล สีแดงจะเป็นสีที่สว่างรับโชคลาภโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ไม่ว่างานเขียนหรือพูดกล่าวกันจนติดปากว่า
“โชคลาภเหมือนแสงสว่าง เมื่อเห็นสีแดงก็จะแทรกเข้าทันที”
คำอวยพรปีใหม่ส่วนใหญ่ใช้คำเดิมๆ เช่น
ซินเจียอยู่อี่สิ่นหนีฮวดจ๋าย ปีใหม่ให้สมใจนึกปีใหม่ทรัพย์สินเพิ่มพูน
กองฮี้ฮวดจ๋ายแสดงความยินดี ขอให้ทรัพย์สินเพิ่มพูน
สิ่นเท่เกี้ยนคอง บ่านสู่อยู่อี่ ร่างกายแข็งแรง หมื่นเรื่องสมใจนึก
ฮกหยูต่งห้ายสิ่วปี๊หล่ำซัว โชคดีเหมือนทะเลตะวันออก อายุยืนดั่งขุนเขาทางใต้
มังกรซ่อนกาย
郭豐揚
เรื่องอื่น ๆ
สวัสดีครับ/ค่ะ! ผม/ดิฉันเป็นหมอที่เชี่ยวชาญในด้านการแพทย์ครับ/ค่ะ ประสบการณ์ของผม/ดิฉันเกี่ยวข้องอย่างแน่นหนากับความตั้งใจในการช่วยเหลือคน และผม/ดิฉันได้ค้นพบทางที่จะใช้พรสวรรค์ทางภาษาของผม/ดิฉันในการทำเช่นนั้น ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของผม/ดิฉันได้เปิดโอกาสให้ผม/ดิฉันไม่เพียงแต่ทำงานกับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังแบ่งปันความรู้และข้อมูลผ่านการเขียนบทความข่าวสาร
ผม/ดิฉันชื่อ Ananda Niran (อนันดา นิรันดร์) และการเดินทางในวงการแพทย์ของผม/ดิฉันเริ่มต้นมานานแล้ว ผม/ดิฉันได้รับการศึกษาที่มหิดลศาสตร์ และตั้งใจที่จะให้ความสุขและความเจริญสบายในสุขภาพกับผู้ป่วย ประสบการณ์การทำงานของผม/ดิฉันรวมถึงการปฏิบัติงานในหลากหลายสถานบริการทางการแพทย์ ที่นั่นผม/ดิฉันมีหน้าที่วินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วยที่มีโรคหลากหลาย
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป ผม/ดิฉันเข้าใจว่าสิ่งสำคัญไม่ได้เพียงแค่การช่วยเหลือผู้ป่วยแต่เพิ่มเติมด้วยการกระจายข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มคนใหญ่ ในโลกที่มีข้อมูลทางการแพทย์มากมาย ผม/ดิฉันตัดสินใจที่จะเข้าร่วมมีส่วนร่วมโดยใช้ความรู้และทักษะทางภาษาของผม/ดิฉัน จึงเริ่มเขียนบทความข่าวสารเกี่ยวกับความก้าวหน้าล่าสุดในการแพทย์ โรคต่าง ๆ การป้องกัน และรูปแบบการดำเนินชีวิต
ความหลงไหลในการเขียนช่วยให้ผม/ดิฉันสามารถอธิบายคำศัพท์และความคิดทางการแพทย์ที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ผม/ดิฉันพยายามให้ความสำคัญและรับผิดชอบต่อทุกบทความ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและมีประโยชน์ ที่สามารถช่วยเหลือคนในการดูแลสุขภาพของตน
พลังประสิทธิ์ของผม/ดิฉันคือที่ทำให้ข้อมูลทางการแพทย์เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนใส่ใจกับความเจริญสุขของตนเอง บทความข่าวสารทุกเรื่องเป็นโอกาสที่จะแบ่งปันความรู้และช่วยเหลือคนที่กำลังมองหาข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ นี่คือเสถียรภาพของผม/ดิฉัน และผม/ดิฉันภาคภูมิใจที่สามารถให้ความช่วยเหลือและแรงบันดาล
ใจในโลกของสายการแพทย์นี้ได้